8 ความเสี่ยงสุขภาพของคนชอบนอนดึกตื่นสาย
  11 กรกฏาคม 2560 15:20    สุขภาพ    โรงพยาบาลศรีวิไล    อ่าน 167233  


วันหยุดทีไรนึกอยากจะนอนดึก ๆ แล้วตื่นสาย ๆ ให้สมกับความอยาก แต่หารู้ไหมว่า พฤติกรรมการนอนดึกตื่นสายบั่นทอนสุขภาพได้มากมายกว่าที่คิด

ถ้าใครกำลังคิดว่าพรุ่งนี้ได้หยุด ไม่ต้องรีบตื่นเช้า คืนนี้เลยกะจะนอนดึก ๆ แล้วไปตื่นเอาซะเที่ยง โปรดหยุดความคิดนั้นเดี๋ยวนี้เลยค่ะ เพราะแม้คุณจะนอนได้ครบ 6-8 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่า แต่พฤติกรรมนอนดึกตื่นสายก็ไม่ได้ช่วยทดแทนเวลานอนที่เสียไปหรอกนะ แถมยังอาจพาเอาโรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือเบาะ ๆ ก็โรคอ้วนมาให้คุณด้วย
สำหรับประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิดว่านอนดึกแล้วไปตื่นเอาสาย ๆ คงไม่กระทบสุขภาพเท่าไร งานวิจัยที่เฟซบุ๊ก Pleasehealth Books นำมาแชร์ต่อก็น่าจะทำให้เราได้คิดทบทวนใหม่อีกรอบค่ะ เพราะผลการวิจัยเขาพบว่า คนที่นอนดึกตื่นสายอาจสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และภาวะกล้ามเนื้อถดถอยมากกว่าคนที่นอนหัวค่ำแล้วตื่นเช้า อันเนื่องมาจากคนติดนิสัยนอนดึก อาจมีภาวะนอนไม่พอสะสม และโดยมากแล้วไลฟ์สไตล์ของคนนอนดึกมักจะกินมื้อดึกและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะอ้วน และนำโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานพ่วงมาด้วย

ทว่าเพื่อเป็นการชี้เป้าให้เห็นชัด ๆ ว่าพฤติกรรมนอนดึกตื่นสาย โดยเฉพาะในวันหยุดมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เราจะแยกให้ได้อ่านเป็นข้อตามนี้

1. โรคอ้วน

อย่างที่บอกว่าคนนอนดึกมักจะเสี่ยงต่อการกินอาหารมื้อหลัง 2 ทุ่ม และส่วนมากก็มักจะเลือกกินอาหารสำเร็จรูป แคลอรีสูง หรือบางคนจัดมื้อหนักซะเลย ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายรับพลังงานส่วนเกินตรงจุดนี้เพิ่มเข้าไป เสี่ยงต่อภาวะไขมันสะสมจนอ้วนขึ้นได้ อีกทั้งคนนอนดึกตื่นสาย ก็มักจะพลาดอาหารเช้า ซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญ และอาจทำให้วันนั้นเผลอจัดหนักกับมื้อกลางวันและมื้อเย็นจนได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินความจำเป็นด้วย

2. เสี่ยงเบาหวาน

ไม่ใช่แค่คนนอนดึกจะเสี่ยงกินอาหารมื้อดึกซึ่งเป็นอาหารน้ำตาลสูง แคลอรีสูงมากขึ้นเท่านั้น แต่การที่เราพลาดอาหารเช้า ก็อาจส่งผลให้เรารู้สึกอยากกินของหวาน ๆ เหมือนร่างกายต้องการน้ำตาลให้เลือดมากขึ้นด้วย ดังนั้นคนนอนดึกตื่นสายเลยมักจะอ้วนขึ้นและมีความเสี่ยงโรคเบาหวานมากขึ้นนั่นเอง

3. ระบบย่อยอาหารผิดปกติ

ระบบย่อยและการดูดซึมอาหารของคนนอนดึกมักจะมีปัญหา เนื่องจากการนอนดึกจะทำให้การทำงานในระบบต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะการทำงานของถุงน้ำดี ที่ต้องส่งน้ำย่อยไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อช่วยย่อยอาหารและเปิดโอกาสให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งหากการทำงานของถุงน้ำดีบกพร่อง การจัดส่งน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหารตรงนี้ก็จะขาดสมดุลไปด้วย และเมื่อเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องสักระยะ การทำงานของระบบย่อยอาหารก็จะมีปัญหาเรื้อรังตามมา

4. ปวดหัว

การตื่นมาในเวลาที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตื้อ ๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะจริง ๆ แล้วอุณหภูมิร่างกายของเราและการไหลเวียนของเลือดจะมีการปรับเปลี่ยนตามตามอุณหภูมิของแสงภายนอก นั่นหมายความว่า หากปกติตื่นเช้ามาเจอแสงแดดอ่อน ๆ ร่างกายก็จะคุ้นชินกับการปรับตัวร่วมกับแสงอ่อน ๆ นั้น ทว่าพอตื่นสายแล้วลืมตามาเจอแสงแดดที่รุนแรงขึ้น การปรับตัวของหลอดเลือดก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย จนอาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวเพื่อเร่งการสูบฉีดเลือดและเพิ่มอุณหภูมิร่างกายให้เท่า ๆ กันกับสภาพอากาศภายนอก และกระบวนการนี้อาจทำให้เรารู้สึกมึนหัวขึ้นมาได้ง่าย ๆ

5. เฉื่อยชา

สังเกตไหมคะว่าการนอนตื่นสายมักจะทำให้เรารู้สึกขี้เกียจมากขึ้น บางคนตื่นแล้วแต่ขี้เกียจลุกออกจากเตียง นอนกลิ้งมันอยู่อย่างนั้น หรือนอนจมบนเตียงทั้งวันก็มี ซึ่งสภาวะแบบนี้ก็ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อถดถอย ยิ่งถ้าเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกายด้วยแล้วก็ยิ่งเสี่ยงกันไปใหญ่ ซึ่งแนวโน้มของคนนอนดึกตื่นสายก็มักจะขี้เกียจเคลื่อนไหวร่างกายด้วยนี่สิ

6. ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

อวัยวะในร่างกายของเรามีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนเช่นกัน โดยเฉพาะตับกับไต สองอวัยวะสำคัญนี้ต้องการเวลาพักผ่อนตามเวลานอนหลับปกติของมนุษย์เราค่ะ ทว่าหากถึงเวลาต้องพักแล้วตับกับไตยังไม่ได้พัก ก็จะเกิดความรู้สึกอ่อนล้า หรือที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเรียกว่า ภาวะยินของตับพร่อง และไตพร่อง ระบบการคัดกรองของเสียในร่างกายขาดสมดุล ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เราป่วยง่าย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำงานของไต ผมร่วง กระดูกและฟันอ่อนแอลงได้

7. เบลอ สมาธิสั้น

โดยเฉพาะคนที่มักจะนอนดึกตื่นสายในวันหยุดเป็นประจำ พอเช้าวันจันทร์จะตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกอึน ๆ เนื่องจากนอนไม่พอทันที เพราะในช่วงที่เรานอนดึกและตื่นสายในวันหยุด นาฬิการ่างกายจะถูกปรับเปลี่ยนไปทีละนิด จากที่เคยนอนตื่นเวลานี้ ร่างกายก็จะสั่งให้สมองพร้อมตื่นตัวในเวลาที่เลทลง ส่งผลให้เช้าวันที่ต้องตื่นตั้งแต่หัวรุ่ง สมองก็ยังไม่พร้อมจะทำงาน เกิดอาการงัวเงีย ไม่พร้อมเรียนรู้ ไม่มีสมาธิ รวมไปถึงทักษะในการตัดสินใจก็จะลดประสิทธิภาพลงด้วย

8. เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอริโซนาพบว่า การนอนและตื่นผิดเวลานาฬิกาของร่างกาย จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ทั้งนี้นักวิจัยอธิบายว่า การนอนดึกตื่นสายของบางคนไม่ใช่การนอนหลับที่มีคุณภาพดี เพราะธรรมชาติของร่างกายเรา เคยตื่นเวลาไหนบ่อย ๆ ก็มักจะสะดุ้งตื่นในเวลาเดิม ซึ่งหากในวันที่คุณคิดจะตื่นสาย ๆ แต่ดันสะดุ้งตื่นตอนเช้าตามเวลาที่เคยตื่น ร่างกายก็จะกลับไปหลับไม่สนิทหรอกนะ ส่งผลให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด และกระทบมาถึงความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

นอกจากนี้การนอนดึกตื่นสายอาจส่งผลร้ายกับความสวยความงามได้ด้วยนะคะ เพราะหากระบบภายในร่างกายไม่ปกติหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะการย่อยหรือการขับถ่าย ผิวพรรณของเราก็จะหมองคล้ำ ดูไม่สดใสเปล่งปลั่ง บอกให้รู้ชัดเลยว่าไม่ใช่สายเฮลธ์ตี้แน่ ๆ

ขอบคุณข่าว Kapook.com

ขึ้นด้านบน